วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556



 ก. ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น
      คดีความ พ.ศ. 2505
  แผนที่ฝรั่งเศสที่ศาลโลกกรุงเฮกใช้อ้างอิงในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา แต่เป็นแผนที่ที่กำหนดเส้นพรมแดนโดยไม่ได้ยึดแนวสันปันน้ำ อันขัดต่อหลักสากลและไทยได้โต้แย้งเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2505 ประเทศไทยได้ยอมรับว่า "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของกัมพูชา แต่ไม่เคยยอมรับอาณาบริเวณบนยอดผาและรอบ ๆ ว่าเป็นของประเทศนั้น ไทยได้ทำบันทึกยื่นต่อศาลระหว่างเทศยืนยันที่จะยึดแนวสันเขตแดนตามหลักสากลโดยใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่ง
ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหารในสมัยปัจจุบันคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ขณะทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อิสาน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ"[30] ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม โดยมีความตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว[31]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ประเทศฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อประเทศเยอรมนี ทำให้แสนยานุภาพทางทหารลดลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสปฏิเสธและมีการเคลื่อนไหวทางทหาร ที่ทำให้เกิดสงครามพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้รับชัยชนะในการรบตลอด 22 วัน กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนจังหวัดไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองให้กับไทย ตาม อนุสัญญาโตเกียว[32] ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์ ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยต้องรักษาสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น และต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงตกลงคืนดินแดน 4 จังหวัดให้ฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง
ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501[14] และในปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน[14]
กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3[33] และในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต ทั้งนี้คำตัดสินของศาลโลกนั้นเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ การจะนำคดีกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้นสามารถทำได้ถ้ามีหลักฐานใหม่และต้องทำภายในสิบปี
หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ปราสาทหินแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเพียงช่วงสั้น ๆ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ปีต่อมาก็ถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง จากนั้นก็เปิดอีกครั้งจากฝั่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา
เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548 กัมพูชาได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2549 วันที่ 30 มกราคม ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกที่ปารีสขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่เกี่ยวกับเขตกันชนของปราสาท และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับฝ่ายไทย[9] พ.ศ. 2550 กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง ขณะที่ไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม (transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป โดยให้ไทย-กัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะเพียงตัวปราสาทเท่านั้น โดยผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อ (i) เพียงข้อเดียว[34]
ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นำประเด็นนี้มาโจมตีเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[35][36][37] เหตุการณ์นี้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในที่สุด
นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ใช้ปืนใหญ่ยิงปะทะกัน ซึ่งต่างก็โทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นฝ่ายเริ่มก่อน[38] วันที่ 5 กุมภาพันธ์ กัมพูชาได้ยื่นจดหมายถึงสหประชาชาติ ความว่า "พฤติการณ์ล่าสุดของทหารไทยได้ละเมิดข้อตกลงสันติภาพปารีส พ.ศ. 2534 กฎบัตรสหประชาชาติ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505"[39]
การตีความคำพิพากษา
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และในวันเดียวกัน ประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน [40] วันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลจึงสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวบางประการ

 ข. คำพิพากษา
มติภาคีมรดกโลก ตกลงเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกออกไปเป็นปี 2554 ที่ประเทศบาร์เรน

           หลังจากที่ประเทศไทยส่ง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ เข้าประชุมกับคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อหาทางออกกรณีที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเพื่อเป็นมรดกโลก โดยทางไทยยืนยันว่าจะขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน ทั้งนี้เพราะเอกสารที่ไทยและกัมพูชามีไม่ตรงกัน โดยไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะวอล์คเอาท์ ออกจากที่ประชุมทันทีหากภาคีมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร

           ล่าสุด นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ประสบความสำเร็จในการเจรจากับภาคีมรดกโลกที่ประเทศบราซิล เมื่อทางคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในปี 2554 ที่ประเทศบาร์เรน เป็นเจ้าภาพแทน
           ซึ่งนายสุวิทย์ ก็ได้โทรศัพท์กลับมารายงานให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องแล้ว เมื่อเช้าวันนี้ (30 ก.ค.) โดยนายสุวิทย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนฝ่ายไทย ได้ทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 20 ประเทศ ถึงแผนผังที่ได้แนบมากับเอกสาร ว่ามีการล่วงล้ำอธิปไตยของไทยพร้อมชี้ให้เห็นถึงข้อพิพาทในพื้นที่ดังกล่าวจนทำให้คณะกรรมการมรดกโลกจากหลายประเทศเห็นด้วยกับข้อเสนอของไทย อาทิเช่น บาร์เรน, จีน, ออสเตรเลีย, อียิปต์, สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศบราซิล เจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้

           ทั้งนี้ นายสุวิทย์ ได้ให้สัมภาษณ์สด ในรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ โดยกล่าวขอบคุณทีมงานจากประเทศไทยที่ช่วยเหลือทั้งเรื่องเอกสารและการให้กำลังใจของประชาชน รวมทั้งอธิบายว่าไทยได้มีการยื่นเอกสารแผนที่ ที่อธิบายถึงการรุกล้ำดินแดนของกัมพูชาเข้ามาในไทย ให้กับที่ประชุมได้เห็น ประกอบกับร่างเอกสารที่คณะกรรมการมรดกโลกได้รับนั้นกระชั้นชิดเกินไป ทางคณะกรรมการจึงมีมติให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน


           ขณะที่ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สถานการณ์ระหว่าง ไทย กับ กัมพูชา ก็ตกอยู่ในสถานะตึงเครียด เมื่อ ไทยยืนยันว่าจะไม่รับแผนต่างๆ ของกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชายังคงบุกรุกที่อย่างชัดเจน ด้านกัมพูชาเองก็มี นาย สก อัน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะหัวหน้าผู้แทนกัมพูชา ออกมากล่าวว่า กัมพูชาจะไม่อดทนอีกต่อไป และ ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของไทยได้
           ซึ่ง นายเขียว กัญฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสาร ในฐานะโฆษกรัฐบาลกัมพูชา ก็ออกมาเปิดเผยกับสำนักข่าวในกัมพูชาว่า ตนได้รับคำสั่งมาจาก สมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้เตรียมความพร้อมกองกำลังเพื่อตอบโต้กับไทย หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีการส่งกำลังทหารมาประชิดชายแดน
           นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ พนมเปญโพสต์ ของกัมพูชา ก็ยังรายงานโจมตีด้วยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สร้างความบาดหมางระหว่างความสัมพันธ์ของไทยและกัมพูชา เมื่อนายกฯยืนยันหนักแน่นว่าจะคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
           อย่างไรก็ตาม การเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารออกไปก่อนนั้น ทำให้ประเทศไทยและกัมพูชามีโอกาสที่จะหาข้อตกลงร่วมกันได้อีกครั้ง โดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้บอกผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่า ไทยได้มีการเตรียมตัวดำเนินการในเรื่องนี้ไว้แล้ว กลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังกันมาหลายปีแล้ว สำหรับข้อพิพาทกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่ไทยและกัมพูชาต่างมีจุดยืนที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง และไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ ยิ่งล่าสุด เมื่อกัมพูชาได้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตประเทศตน งานนี้ก็เลยทำให้ข้อพิพาทนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นมาอย่างไม่มีข้อสงสัย และดูท่าว่าเรื่องนี้คงไม่จบกันได้ง่าย ๆ เมื่อไทยและกัมพูชาต่างอ้างอิงแผนที่คนละฉบับกันอยู่ และต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันในจุดยืนของตัวเองชัดเจน

          เริ่มจากฝ่ายกัมพูชา ที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกลงมติรับรองให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็มาถึงขั้นตอนการนำเสนอการจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณากันแล้ว ในการประชุมเมื่อวันที่ 22-30 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประเทศสเปน ซึ่งหากการนำเสนอครั้งนี้ได้รับการลงมติรับรองจากคณะกรรมการมรดกโลก ก็จะทำให้ปราสาทเขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์
          ส่วนอีกฝ่าย คือ รัฐบาลไทย ก็ยังยืนยันจุดยืนเดิมว่าจะคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจการสำรวจ และการปักปันเขตแดนทางบกปี 2543 หรือ เอ็มโอยู แล้วไปยอมรับการแบ่งพื้นที่ตามแผนที่ที่กัมพูชาได้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ารัฐบาลไทยจะยึดหลักสันปันน้ำในการแบ่งพื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร และไม่ยอมรับการใช้พื้นที่ของกัมพูชาอย่างเด็ดขาด เพราะถือเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย ขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายหน่วยงานของไทยแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลไม่ใช่เพียงคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเท่านั้น ต้องเรียกร้องยกเลิกบันทึกความเข้าใจการสำรวจและการปักปันเขตแดนทางบกปี 2543 แล้วขับไล่ทหารและชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ดังกล่าวให้หมด เพื่อรักษาผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศไว้

          จากข้อขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ทั้งไทยและกัมพูชาต่างเตรียมแถลงจุดยืนที่หนักแน่น ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศบราซิล ซึ่งการประชุมนี้ถูกเลื่อนจากวันที่ 28 กรกฎาคมเป็นคืนวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) โดยในการประชุมลงมติกรณีพิพาทดังกล่าวจะใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการจาก 21 ชาติ ซึ่งทางผู้แทนไทยก็ได้หารือกันเกี่ยวกับท่าที แนวโน้มของคะแนนเสียงในที่ประชุม พร้อมทั้งได้มีการโน้มน้าวใจจากคณะกรรมการประเทศอื่นเพื่อสนับสนุนฝ่ายไทย

          ขณะที่การหยั่งเสียงล่าสุดยังพบว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนฝ่ายกัมพูชาเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลไทยก็ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว โดยอาจจะใช้วิธีวอล์คเอาท์จากที่ประชุมเพื่อแสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกัมพูชา และอาจจะถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลกก็ได้ ซึ่งทางรัฐบาลไทยจะให้อำนาจแก่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้แทนไทยในการร่วมประชุมครั้งนี้ ในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ โดยในขณะนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ก็ได้ยอมรับว่าหนักใจกับการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้อย่างมาก แต่ก็จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด
          ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา นายฮอร์ นัมฮง  รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ก็ได้มีการออกมาโจมตีความเคลื่อนไหวของฝ่ายไทย ที่พยายามคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยนายฮอร์ได้ กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาทราบดีว่าทางการไทยเตรียมประท้วง และจะไม่ยอมรับการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแน่นอน แต่ทางกัมพูชาไม่ได้รู้สึกหนักใจกับท่าทีของรัฐบาลไทยเลย เพราะคิดว่าความพยายามของฝ่ายไทยนั้นเป็นความพยายามของพวกคนตกยุค ที่มัวแต่จมอยู่กับอดีต และชอบขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตขึ้นมาเป็นประเด็นอยู่ไม่จบไม่สิ้น ซึ่งมันจะเป็นความพยายามที่สูญเปล่าอย่างแน่นอน เพราะไม่ว่าทางไทยจะพยายามมากแค่ไหน ก็ไม่มีทางจะเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาได้ 

          ด้านนายเจีย ดารา รองผู้บัญชาการกองทัพบกกัมพูชาในจังหวัดพระวิหารออกมาเปิดเผยว่า เขาได้แจ้งกับบรรดานักการทูตของนานาชาติในกรุงพนมเปญไปแล้ว เกี่ยวกับพฤติกรรมของ ทางการไทยที่พยายามใช้พระสงฆ์และชาวบ้าน เป็นเครื่องมือในการรุกล้ำพรมแดนของกัมพูชา บริเวณพื้นที่โดยรอบปราสาทเขาพระวิหารตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคนไทยควรยุติพฤติกรรมดังกล่าวได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่หยุดทางกัมพูชาก็จะต้อนรับคนไทยที่รุกล้ำดินแดนของกัมพูชาด้วยกระสุนปืน

          อย่างไรก็ดี นางไอรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่แห่งยูเนสโก ได้เปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวว่า หัวใจสำคัญของภารกิจองค์กรยูเนสโก คือการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติด้วยความสันติ ความเคารพ และปราศจากอคติ อยากให้มรดกโลกเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ การร่วมมือและปรองดองกัน

          ล่าสุด มีข่าวออกมาว่า นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้เสนอให้ยูเนสโก เลื่อนการพิจารณาแผนการจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารที่กัมพูชาเสนอออกไปเป็นปีพ.ศ. 2554 และย้ำอีกว่า หากคณะกรรมการมรดกโลกไม่รับฟังข้อเสนอ ไทยก็จะใช้มาตรการตอบโต้จากเบาไปหนักทันที